ยินดีต้อนรับ

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พระบิดาแห่งกฎหมายไทย

           พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจองมารดาตลับ ทรงประสูตเมื่อ วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ .2417เมื่อยังทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาวิชาภาษาไทยในสำนักของพระยาศรีสุนทรโวหาร ( น้อย อาจารยางกูร ) และพระยาโอวาทวรกิจ ต่อมาทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบและได้ทรงศึกษาชั้นมัธยมที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้น ได้ทรงศึกษาวิชากฎหมาย ณ สำนักโครสต์เซิร์ซมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดจนสำเร็จได้ปริญญาตรีเกียรตินิยมสาขากฎหมาย  หลังสำเร็จการศึกษาแล้วจึงได้เสด็จกลับประเทศไทยและได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี ต่อมาในปี พ.ศ.2439 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นสภานายกพิเศษ พิจารณาแก้ไขธรรมเนียมศาลยุติธรรมสำหรับหัวเมืองจนสำเร็จทั่วพระราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังทรงจัดวางระเบียบศาลยุติธรรมของประเทศจากระบบเก่ามาสู่ระบบใหม่ ทรงแก้บทกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาความแพ่งและอาญาเสียใหม่ อันส่งผลให้ราชการศาลยุติธรรมทัดเทียมกับนานาอารยประเทศและมั่นคงตราบเท่าทุกวันนี้
          ในปี พ.ศ. 2440 พระองค์ทรงเป็นประธานคณะกรรมการการตรวจพระราชกำหนดบทอัยการที่ใช้อยู่และจัดวางระเบียบไว้เป็นบรรทัดฐาน พระองค์ทรงมีบทบาทอย่างมากในการตรวจชำระบทอัยการครั้งนี้ โดยเฉพาะการจัดทำกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายไทยฉบับแรกสำเร็จใน พ.ศ.2451 โดยใช้เวลาถึง 11 ปี ประเทศไทยได้ใช้ประมวลกฎหมายฉบับนี้มาเป็นเวลานานถึง 49 ปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นแบบของ ประมวลกฎหมายอาญาซึ่งประกาศให้ใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2500เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ทรงดำริว่าการที่จะให้ราชการฝ่ายการศาลยุติธรรมดำเนินไปได้ด้วยดีนั้นจำเป็นต้องจัดให้มีผู้รู้กฎหมายมากขึ้น และการที่จะจัดเช่นนั้นได้ดีที่สุด คือ เปิดให้มีการสอนชุดวิชากฎหมายขึ้นให้เป็นการแพร่หลาย จึงทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเมื่อพ.ศ. 2440 เป็นการเปิดการสอนกฎหมายครั้งแรกพระองค์ทรงเป็นอาจารย์สอนด้วยพระองค์เอง
ทรงห่วงใยนักเรียนกฎหมายและปรารถนาที่จะให้ใช้วิชากฎหมายในทางปฏิบัติจริงๆ จึงทรงสนับสนุนการว่าความนักเรียนคนใดไม่มีความจะว่าก็ทรงให้ว่าความแทนผู้ต้องหาในเรือนจำ นอกจากการสอนประจำวันแล้วพระองค์ยังทรงแต่งตำราอธิบายกฎหมายลักษณะต่างๆมากมายและทรงรวบรวมกฎหมายตราสามดวงอันเป็นกฎหมายเก่าที่ใช้อยู่ในเวลานั้นรวมทั้งพระราชบัญญัติบางฉบับและคำพิพากษาฎีกาบางเรื่องโดยจัดพิมพ์ขึ้นเป็นสมุดเล่มใหญ่แบ่งเป็นหมวดหมู่มีคำอธิบายและสารบัญละเอียดกฎหมายตราสามดวงที่ทรงรวบรวมขึ้นนั้นให้ชื่อว่ากฎหมายราชบุรีซึ่งเป็นรากฐานในการศึกษากฎหมายมาหลายทศวรรษ
          ต่อมาในปลายปี พ.ศ. 2440 ทรงเปิดให้มีการสอบไล่เป็นเนติบัณฑิตผู้สำเร็จเนติบัณฑิต เหล่านี้ ได้เข้ารับราชการเป็นกำลังของกระทรวงยุติธรรมหลายท่านด้วยกันบางท่านเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนกฎหมายการตั้งโรงเรียนกฎหมายและพระนิพนธ์ทางกฎหมายของพระองค์นั้นนับว่าเป็นรากฐานในการก่อตั้งการศึกษานิติศาสตร์ขึ้นในประเทศไทยซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ อย่างยิ่งแก่ประเทศชาติในปี พ.ศ. 2453 ขณะยังทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมได้ทรงขอลาออกจากราชการเนื่องจากทรงประชวรอยู่เสมอ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ลาออกในปีนั้นเองต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติและได้ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการและในปีนั้นเองทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็นกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ระหว่างที่ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ได้ทรงจัดการแก้ไขและวางระเบียบการในกระทรวงให้ดียิ่งขึ้นคือทรงแก้ไข ระเบียบการของหอทะเบียนที่ดินทั้งหลายทั่วพระราชอาณาจักรโดยทรงจัดให้มีการประชุมนายทะเบียนเป็นครั้งคราวทรงพัฒนาการออกโฉนกที่ดินซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีและทรงทำนุบำรุงการเกษตรโดยเฉพาะเรื่องการชลประทานและการทดน้ำ นับว่าพระองค์ได้ทรงปฏิบัติราชการสำคัญอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนอย่างยิ่ง  จนกระทั่งปี พ.ศ. 2462 ทรงประชวรด้วยวัณโรคที่พระวักกะ (ไต) จึงได้ทรง กราบถวายบังคมลาไปรักษาพระองค์ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสและในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2463 ได้ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุเพียง 47 พรรษา
           จากการที่ได้ทรงทุ่มเทพพระวรกายศึกษาวิชาการทางกฎหมายและทรงทำให้ระบบกฎหมายและศาลยุติธรรมของประเทศไทยเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอนารยประเทศทั้งปวงนี้เองทำให้ประชาชนต่างขนานพระนามว่า "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย" และกำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคมซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์เป็น "วันรพี" เพื่อให้บรรดานักกฎหมายได้มีโอกาสแสดงความระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านด้วยการวางพวงมาลาหน้าพระรูปและบำเพ็ญกุศลร่วมกันตลอดจน การจัดกิจกรรมทางกฎหมายในหลายรูปแบบเพื่อเผยแพร่วิชาการกฎหมายให้กว้างขวางสู่ประชาชน สมดังพระประสงค์ที่ต้องการให้นักกฎหมายมีบทบาทในการพัฒนาประเทศโดยพัฒนากฎหมายให้ก้าวหน้าเหมาะสมแก่สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและใช้กฏหมายเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน 

ที่มา : http://www.thailandroad.com/chaninat/rapree.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น